เดี๋ยวเล่าให้ฟัง : การเงิน 101 เขียนโดย MONEY BUFFALO

 


            พื้นฐานเรื่องเงินที่ใครหลายๆ คนควรมีคือ การวางแผนทางการเงิน เพื่อทำตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการออมเพื่อเกษียณ การศึกษาบุตร หรือแม้กระทั่งเพื่อความฝันก็ตาม เพราะทุกความฝันย่อมมีราคา เราจึงต้องรู้เป้าหมาย ราคาความฝัน ระยะเวลา และแบบแผนในการลงมือทำของเรา

            ตัวอย่างเช่น นุ่นต้องการดาวน์รถ ราคา 1,000,000 บาท ในระยะเวลา 12 เดือน โดยลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทน 8% เป็นต้น
            และสำหรับมนุษย์เงินเดือน ที่ใช้เงินกันแบบเดือนชนเดือนอยู่ก็สามารถมีเงินออมได้ แค่เปลี่ยนสมการเงินออมจาก
รายได้ – ค่าใช้จ่าย = เงินออม  เป็น  รายได้ – เงินออม = ค่าใช้จ่าย

            ส่วนใครที่บ่นอยากรวย แต่ยังวิ่งออกไปซื้อหวย เพราะเห็นคนอื่นถูก ก็อยากถูกแบบเขาบ้างนั้น เงินส่วนมากที่ได้มาง่ายๆ ก็มักจะออกไปง่ายๆ เหมือนกัน หนังสือเล่มนี้จึงมีคาถาที่ช่วยให้ทุกคนร่ำรวย คือ “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายเงินออม”

            1. เพิ่มรายได้ หรือผลตอบแทนจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ
                        - Active income งานที่ใช้แรง หรือเวลาแลกผลตอบแทน เช่น งานประจำ Freelance ค้าขาย
                        - Passive income ผลตอบแทนที่ได้มาจากการถือครองสินทรัพย์บางอย่าง เช่น เงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าเช่า เป็นต้น
            2. ลดรายจ่าย สิ่งแรกที่ควรทำคือการจัดการรายจ่ายของตัวเอง โดยใช้ “บัญชีรายรับรายจ่าย” ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นภาพรวมได้มากขึ้น และสามารถหารอยรั่วทางการเงินได้ และอุดมันซะก่อนที่จะไม่มีเงินเก็บ
            3. ขยายเงินออม โดยสร้างผลตอบแทนในแหล่งลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งเครื่องมือที่ทรงพลังในการลงทุน คือ เงินลงทุน ผลตอบแทน และระยะเวลา

ในการเริ่มวางแผนการเงิน หรือการลงทุน สิ่งที่ควรมี คือ

            1. ความจำเป็นพื้นฐาน และการจัดการความเสี่ยง โดยเงินก้อนแรกที่ทุกคนควรมีคือ “เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 3-6 เดือน” เพื่อให้เราก็ยังสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยเงินก้อนนี้ในกรณีที่จังหวะชีวิตไม่เป็นใจ ซึ่งเงินก้อนนี้ควรฝากไว้ในสินทรัพย์สภาพคล่องสูง จะถอนเมื่อไหร่ก็ได้ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

            และในส่วนการจัดการความเสี่ยงจากตัวเรา เช่น ความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย หรือความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ ซึ่งแค่ค่ารักษาพยาบาลก็อาจทำให้ใครหลายๆ คนหมดตัวเลยก็ได้ แล้วสินค้าทางการเงินที่ช่วยกระจายความเสี่ยงดังกล่าวได้ คือ ประกัน ในที่นี้จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประกันชีวิต และ ประกันสุขภาพ/ประกันอุบัติเหตุ (ขอไม่ลงรายละเอียดนะคะ)

            2. การเก็บสะสม เพื่อใช้ในเป้าหมาย 2 ประเภท คือ เป้าหมายที่จำเป็น และเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งเราควรจัดการเป้าหมายที่จำเป็นก่อนให้ครบถ้วน

                        - เป้าหมายที่จำเป็น คือ เป้าหมายที่ไม่มีไม่ได้ เช่น การศึกษาบุตร วางแผนเกษียณ
                        - เป้าหมายที่ต้องการ คือ เป้าหมายที่อยากมี ไม่มีก็ไม่เป็นไร เช่น รถคันใหม่ เที่ยวต่างประเทศ
            ในการวางแผนเกษียณ สิ่งที่ควรรู้คือ
                        1. ในช่วงวัยเกษียณเราจะใช้เงินเดือนละเท่าไหร่
                        2. เราจะเกษียณตอนอายุเท่าไหร่
                        3. เราจะมีอายุไปถึงเท่าไหร่ ขอแนะนำให้ใส่อายุ 80 ปี ซึ่งเป็นอายุเฉลี่ยของคนไทยไปก่อน
            และเมื่อนำมาคำนวณเราจะได้  จำนวนเงินที่ต้องใช้ในวัยเกษียณ = ((ข้อ 1) x ((ข้อ3) – (ข้อ 2))) x 12
            ** ยังไม่รวมอัตราเงินเฟ้อ 3%
            ซึ่งในการเก็บเงินเพื่อการเกษียณอายุ ก็มีสินค้าทางการเงินต่างมากมายที่ช่วยในการเก็บเงิน เช่นกองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนรวมหุ้น และกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น/ยาว เป็นต้น

            3. การลงทุน เพื่อเพิ่มความมั่งคั่ง ซึ่งเราอาจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงขึ้นมาหน่อยได้ เช่น การลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) อสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวม

            ในส่วนของกองทุนรวมข้อดีของมัน คือ มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ มีมืออาชีพคอยดูแล มีสภาพคล่อง มีสินทรัพย์ให้เลือกหลากลาย และบางกองทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
            ในการเริ่มลงทุนในกองทุนรวม สิ่งแรกที่ควรทำความรู้จัก คือ
            1.สำรวจตัวเอง เช่น ความเสี่ยงที่รับได้ จำนวนเงินที่สามารถนำไปลงทุนโดยไม่เดือดร้อน ต้องการปันผลหรือไม่ และระยะเวลาที่ใช้ในการลงทุน เป็นต้น
            2. ดูรายละเอียดกองทุน ซึ่งสามารถดูได้จาก “Fund Fact” ซึ่งเอกสารนี้จะบอกรายละเอียดต่างๆ ของกองทัน เช่น ขนาดกองทุน สินทรัพย์ที่ลงทุน นโยบายการลงทุน นโยบายการจ่ายปันผล จำนวนซื้อขั้นต่ำ ค่าธรรมเนียมในการซื้อ ผลตอบแทนย้อนหลัง ค่าความเสี่ยง (S.D. ยิ่งสูง ยิ่งเสี่ยง) หรือค่า Sharp ratio (ยิ่งสูง ยิ่งดี) เป็นต้น
            3.ติดตามผลการลงทุนทุก 6 เดือน หรือทุกปี

            หนังสือการเงิน 101 โดย MONEY BUFFALO เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่จะช่วยให้ใครหลายๆ คนสามารถวางแผนการเงินส่วนของตนไปทีละขั้นตอนได้เลย หรือใครที่อยากลงทุน แต่ไม่รู้ว่าควรเริ่ม หรือเตรียมตัวอย่างไร หนังสือเล่มนี้จะช่วยเป็นอีกหนึ่งเล่มที่จะช่วยคุณได้อย่างแน่นอน

ความคิดเห็น